บทความสาระ
(Article)
พระพุทธรูปสุโขทัย

ศิลปะพระพุทธรูปสุโขทัยนั้นอาจแบ่งได้เป็น ศิลปะตะกวน ก่อนสุโขทัยมีอิทธิพลของศิลปะขอม ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ ศิลปะสุโขทัยหมวดต่างๆ เช่น หมวดพิษณุโลก หมวดกำแพงเพชร

ศิลปะของพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่างามอย่างถึงที่สุดได้แก่ “ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์” นอกจากได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปจากประเทศลังกาดังกล่าวแล้ว ยังต้องอาศัยฝีมือของนายช่างไทยในสมัยนั้นที่ได้ใช้จินตนาการอันบรรเจิดในการรังสรรค์พระพุทธรูปที่มีพุทธศิลปะเฉพาะ ซึ่งฉีกแนวคิดออกจากอิทธิพลเดิมๆ จนมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามและถือเป็นศิลปะอันบริสุทธิ์

ประกอบด้วยพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ พระเกศ ทำเป็นอย่างเปลวเพลิงสูง พระศก ขมวดเป็นก้นหอยเล็ก พระพักตร์ เป็นหน้านางหรือหน้ารูปไข่ พระเนตรหลุบต่ำ ทำให้ได้รับความรู้สึกจากพระพักตร์อันเต็มไปด้วยพระเมตตา พระวรกายโดยรวมดูชะลูดอย่างมีทรง และเน้นกล้ามเนื้อดูพองามที่พระนาภี พระกรทั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย ทอดลงมาที่พระเพลาอย่างอ่อนช้อย และเล่นนิ้วพระหัตถ์แต่พองาม ดูไม่แข็งกระด้าง การซ้อนของพระเพลา งอนขึ้นเล็กน้อยและดูรับกันทั้งสองข้าง พระสังฆาฏิ ทอดยาวลงมาเสมอพระนาภี และปลายแตกเป็นเขี้ยวตะขาบ และฐานองค์พระ ส่วนมากมักทำเป็นลักษณะฐานเขียง นักเล่นพระเรียก “หน้านางคางหยิก” คือหน้างามเยี่ยงอิตถีเพศ ปลายคางมีรอยคล้ายเล็บหยิกลงไป

“พระพุทธรูปสุโขทัย” ซึ่งนายช่างผู้ประติมากรรมได้รังสรรค์งานศิลปะและบรรจงสร้างขึ้นอย่างประณีตนั้น แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์อย่างแน่วแน่ โดยได้สอดแทรกทั้งจิตและวิญญาณลงไปในผลงานนั้นด้วย จึงออกมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามอ่อนช้อยมีชีวิตชีวาอันเป็นพุทธลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งผู้ที่ได้สัมผัสพบเห็นแล้วก่อเกิดความศรัทธาและความปีติได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับผม