บทความสาระ
(Article)
พระสังขะจาย
พระสังขะจาย เนื้อผงคลุกรัก หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี
หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พื้นเพเป็นลูกของชาวประมงในจ.เพชรบุรี เกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2337 และเมื่อมีอายุได้พอสมควรก็ได้บวชเป็นเณรและบรรพชาเป็นพระภิกษุมาตลอด ระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมจนบรรลุแตกฉาน จนเมื่อปี พ.ศ.2364 หลวงพ่อแก้ว ก็ได้เดินธุดงส์ไปยังจ.ชลบุรี และได้พบวัดร้างแห่งหนึ่ง จึงได้ทำการบูรณะและตั้งชื่อว่า วัดเครือวัลย์ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลมะขามหย่ง ในเขตอำเภอเมือง
หลวงพ่อแก้วท่านเป็นพระภิกษุผู้แก่กล้าทางวิชาอาคม พุทธาคมสูงล้ำทางด้านเมตตามหานิยมท่านได้สร้างวัตถุมงคลบอดแห่งพระภควัมปติ พระปิดตาที่มิอาจประเมินค่า ไว้เป็นมรดกแห่งศรัทธาอันดับหนึ่งแห่งพระปิดตาเบญจภาคี ไว้มากมายหลายแบบ หลายขนาดเป็นเนื้อผงคลุกรัก ที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่อง มีลักษณะพิมพ์พระแยกได้เป็น 2 ชนิด คือแบบ มีแม่พิมพ์ ใช้กดพิมพ์องค์พระจุ่มรักสีเหลืองอมน้ำตาลเข้ม สำหรับแบบมีแม่พิมพ์นั้นมีการแยกแยะพิมพ์ไว้ ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก พิมพ์กลาง และพิมพ์ใหญ่ หลังองค์พระมีทั้งหลังเรียบและหลังแบบ ส่วนอีกแบบนั้นคือใช้มือปั้นแล้วแต่งเป็นองค์พระที่เราเรียกว่า พระปิดตาพิมพ์ปั้นลอยองค์ และ รวมถึงพิมพ์พระสังขจายที่หายากมากที่สุด
วิธีสร้างผงของหลวงพ่อแก้ว การสร้างพระปิดตาหลวงพ่อแก้วนั้น ก็ไม่มีอะไรมากนัก โดยปกติแล้ว หลวงพ่อแก้ว ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยละเอียดรอบคอบเป็นปกติ ท่านเป็นผู้เห็นการณ์ไกล คือ ในขณะที่ท่านสอนบาลีไวยากรณ์อยู่นั้น ท่านก็ได้เก็บเอาผงที่ลบจากอักขระเอาไว้ เพราะการสอนหนังสือในสมัยนั้นจะต้องเขียนต้องลบตัวอักขระบนกระดานดำจริงๆ และนิยมกันว่า ผงอักขระที่ลบจากการเรียนภาษาบาลี ซึ่งเขียนเป็นอักษรขอมที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ แล้วท่านก็จะนำมาผสมกับผงพระพุทธคุณ หรือผงมหาราช เป็นต้น เมื่อเอาผงดินสอ และผงพุทธคุณรวมกันเข้าแล้ว ท่านก็เอาเกษรดอกไม้ต่างๆ ใบไม้ เปลือกไม้ และเนื้อไม้ มาบดให้ละเอียดเป็นผง แล้วจึงนำมาผสมกับผงอักขระ เอาน้ำข้าวมาคละเคล้าเข้ากับผง เพื่อทำให้เหนียว จนได้หล่อเป็นรูปพระ การผสมผงเพื่อสร้างเป็นรูปพระหลวงพ่อแก้วนั้น ท่านเอาผงคุณพระกับผงดินสอที่ท่านเขียนอักขระบนกระดานดำ เอาผงทั้งสองอย่างนั้นมาผสมกันเข้าไว้ แล้วเอาใบไม้ ที่เรียกกันว่า ใบไม้รู้นอนต่างชนิด เช่น ยอดสวาท เป็นต้น เอาเกษรดอกไม้บ้าง มาบดเป็นผงให้ละเอียด ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันด้วยดีแล้ว จึงเอาน้ำข้าวเหนียวมาผสมทำให้เหนียวแล้วจึงนำไปกดพิมพ์พระ 
พระเครื่องของหลวงพ่อแก้วมีพุทธนุภาพสูงมากเป็นที่ประจักษ์ในเรื่องเมตตามหานิยม โชคลาภ ค้าขาย เป็นที่รักใคร่มหาเสน่ห์ ในอดีตนั้นลูกศิษย์เคยนำพระไปฝนให้ผู้หญิงกิน ทำให้ผู้หญิงนั้นหลงเสน่ห์แต่เมื่อได้เป็นเมียแล้วกลับทิ้งขว้าง หลวงพ่อแก้วจึงได้นำพระเครื่องของท่านไปจุ่มรักทับไว้อีกครั้งเพื่อกันไม่ให้ลูกศิษย์เอาผงไปใช้ในทางที่ไม่ดีอีก รวมทั้งได้สาบแช่งไว้ด้วยหากใครนำผงไปใช้แล้วไม่รับผิดชอบ
หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ มรณภาพ เมื่อช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๖ - พ.ศ. ๒๔๓๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ อายุประมาณ ๘๕ - ๙๐ ปี เนื่องจากท่านเป็นพระในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในการระบุปีเกิดรวมถึงอายุ และปีที่มรณะ ล้วนแต่เป็นการคาดคะเน และมีคำบอกเล่าต่อๆ กันมา ในการคาดคะเนของบางแหล่งข้อมูลก็ระบุว่า ท่านอาจะเป็นองค์เดียวกันกับ หลวงพ่อแก้ว วัดปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี ก็เป็นได้ 
( ข้อมูลดังกล่าว มาจากหนังสือภาพประวัติ พระเมืองชล จัดทำโดย นายธีรชัย ทองธรรมชาติ นายกยุวธิกสมาคมชลบุรี ในพระสังฆราชูปถัมภ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๑ พิมพ์ที่ บริษัท พันนา บรรจุภัณฑ์ ๓๕ ซอยพิพัฒน์ ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร )